วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

การเลือกทำเลที่ตั้ง

ปัจจัยในการเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจ
      ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบใช้ในการพิจารณาเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจ มีดังนี้

      1. แหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ
          การตั้งสถานประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะองค์การธุรกิจประเภทอุตสาหกรรม ส่งที่นำมาใช้ในการผลิต คือ วัตถุดิบ เช่นโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋อง วัตถุดิบ คือ อะไห่และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ วัตถุดิบ คือ ไม้ ฯลฯ ดังนั้นในการจัดตั้งสถานประกอบการธุรกิจ จึงต้องคำนึงถึงแหล่งวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต ควรจะอยู่ในแหล่งวัตถุดิบหรืออยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เพื่อสะดวกในการจัดหาวัตถุดิบราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งย่อมลดลง เช่น โรงงานผลิตปลากระป๋อง ควรตั้งอยู่ใกล้ ชายฝั่งทะเลจะได้วัตถุดิบราคาถูก คุณภาพดี แต่ถ้าโรงงานผลิตปลากระป๋องตั้งอยู่ไกลจากชายฝั่งทะเลมากวัตถุดิบที่จัดหาอาจไม่มีหรือมีจำนวนน้อยทำให้วัตถุดิบราคาสูง คุณภาพไม่ดี และต้องเสียค่าขนส่งสูง เป็นต้น นอกจากนั้น ต้องคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติด้วย เช่น น้ำ อากาศ เนื่องจากในการผลิต ส่วนประกอบที่สำคัญที่ใช้ในการผลิต ส่วนใหญ่ต้องอาศัยน้ำ กิจการประเภทโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จึงตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำหรือแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อสะดวกในการนำน้ำมาใช้ใน การผลิต ในการตั้งสถานที่ประกอบการใกล้แม่น้ำ ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมด้วย เช่น ในการผลิตจะมีของเสียจากการผลิต โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีระบบในการกำจัดน้ำเสีย ไม่ถ่ายเทน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลองหรือเปลี่ยนสภาพจากน้ำเสียให้เป็นน้ำดีก่อนที่จะ ถ่ายเทลงในแม่น้ำคลอง กรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมเมื่อทำการผลิตแล้ว มีฝุ่นละอองหรือควันเสีย จะต้องทำการป้องกันมิให้อากาศเป็นพิษด้วย การประกอบการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นประเภทพาณิชยกรรม หรือประเภทอุตสาหกรรมการเลือกทำเลที่ตั้ง สถานที่ประกอบการจะ ต้องคำนึงถึงแหล่งจัดซื้อ เพื่อให้การจัดซื้อได้สินค้าหรือวัตถุดิบราคาที่เหมาะสม เสียค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อต่ำ คุณภาพสินค้าหรือวัตถุดิบเป็นตาม ที่ต้องการ และได้ทันเวลาที่มีความต้องการของตลาดหรือการผลิต ในการจัดซื้อเพื่อให้มีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนดังนี้

          1.1 กำหนดรายละเอียดของสินค้าหรือวัตถุดิบที่ต้องการซื้อทั้งคุณภาพและปริมาณ
          1.2 สำรวจแหล่งขาย โดยผู้ประกอบการจะต้องทราบถึงแหล่งขายสินค้าหรือวัตถุดิบที่ต้องการจัดซื้อว่าอยู่ที่ใด มีผู้ขายกี่ราย แต่ละรายกำหนดราคาขายเท่าไร คุณภาพสินค้าหรือวัตถุดิบเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขในการขายอย่างไรบ้าง เมื่อสำรวจแหล่งขายแล้ว คาดว่าจะจัดซื้อ จากผู้ขายรายใด ควรมีการเจรจาตกลงในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดซื้อ ในกรณีจัดซื้อครั้งละเป็นจำนวนมาก การเจรจาระหว่าง ผู้จัดซื้อและผู้ขาย ควรจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการเป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นได้
           1.3 การสั่งซื้อ หลังจากได้มีการเจรจาตกลงกันแล้ว ผู้จัดซื้อจัดทำใบสั่งซื้อ ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดต่าง ๆ ได้แก่ วัน เดือน ปี ที่สั่งซื้อ ราคาต่อหน่วย ราคารวม ชื่อเครื่องหมายการค้าของผู้จัดซื้อ ชื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ขาย ระบุเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น เงื่อนไขในการส่งมอบ เงื่อนไขในการชำระเงิน
            1.4 การรับสินค้าหรือวัตถุดิบ เมื่อผู้ขายส่งสินค้าให้ผู้จัดซื้อ จะต้องมีใบกำกับสินค้าแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ วัน เดือน ปี ที่ส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ ปริมาณสินค้าหรือวัตถุดิบ ราคาต่อหน่วย ราคารวม ชื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ขาย ชื่อเครื่องหมายการค้าของผู้สั่งซื้อ ผู้จัดซื้อจะต้องตรวจสอบความถูกต้อง ของสินค้าหรือวัตถุดิบที่ได้รับให้ตรงตามใบสั่งซื้อและใบกำกับสินค้า


           2. แหล่งแรงงาน
แรงงาน หมายถึง สิ่งที่ได้จากความสามารถของมนุษย์ทั้งแรงงานที่ได้จากแรงกายและแรงงานที่ได้จากความคิด เพ่อนำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการตามที่ต้องการ แรงงานที่ผู้ประกอบการต้องการ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
               2.1 แรงงานที่มีฝีมือ หรือแรงงานที่มีความชำนาญ (Skilled Labour)
               2.2 แรงงานไร้ฝีมือ หรือแรงงานทั่วไป (Unskilled Labour) ผู้ประกอบการจะมีความต้องการแรงงานประเภทใด จะรู้ได้โดยการจัดทำรายละเอียดหน้าที่ของตำแหน่งงานแต่ละตำแหน่ง ต้องการแรงงานจำนวนเท่าใด และเมื่อใด โดยการเสนอจากแต่ละหน่วยงานในองค์การธุรกิจ ในการจัดหาสถานที่ประกอบการ ต้องคำนึงถึง แหล่งแรงงานที่ธุรกิจมีความต้องการ ซึ่งควรจะเป็นแหล่งที่จัดหาแรงงานได้ง่าย อัตราค่าจ้างต่ำและมีคุณภาพตามที่ต้องการ เช่น ในการดำเนินกิจการโรงงานผลิตปลากระป๋อง แรงงานที่ต้องการใช้ส่วนใหญ่เป็นประเภทแรงกาย แรงงานไร้ฝีมือ สถานที่ประกอบการตั้งในต่างจังหวัดจะหา แรงงานได้ง่าย และอัตราค่าจ้างต่ำ แต่ถ้าเป็นโรงงานผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย แรงงานที่ใช้เป็นประเภทแรงงานที่ใช้ ความคิด แรงงานที่มีความชำนาญ สถานที่ประกอบการควรตั้งในเมืองใหญ่หรือใกล้เมืองใหญ่ จึงจะหาแรงงานได้ตามที่ต้องการ

              3 ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
                 การเลือกสถานที่ประกอบการ จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ดังนี้
                 3.1 ค่าขนส่งวัตถุดิบไปยังโรงงานเพื่อทำการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ผลิตส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักมากและต้องใช้ในปริมาณที่สูงการเลือกสถานที่ประกอบการจึงควรอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบเพื่อเสียค่าขนส่งในอัตราที่ถูก แต่ถ้าไม่ตั้งสถานที่ประกอบการใกล้แหล่งวัตถุดิบ ก็ควรพิจารณาระบบการขนส่งที่เหมาะสม เพื่อให้วัตถุดิบไปยังโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเสียค่าใช้จ่ายต่ำ
                 3.2 ค่าขนส่งสินค้าไปเพื่อเก็บรักษา เมื่อผลิตสินค้าเสร็จก่อนนำออกจำหน่ายสินค้าจะต้องได้รับการดูแลรักษาในสภาพที่เหมาะสมเพื่อคุณภาพที่ดีของสินค้าสถานที่ประกอบการควรอยู่ใกล้คลังเก็บสินค้า เพื่อสะดวกในการขนสินค้าจากโรงงานไปเก็บรักษาในคลังสินค้า และเสียค่าใช้จ่ายต่ำ
                  3.3 ค่าขนส่งสินค้าออกจำหน่าย เพื่อความสะดวกของผู้บริโภค การเลือกสถานที่ประกอบการ ควรตั้งให้ใกล้แหล่งผู้บริโภค และประหยัดค่าใช้จ่าย

             4 สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
                การเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบการ ควรคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ดังนี้
                4.1 สาธารณูปโภค การเลือกสถานที่ประกอบการควรคำนึงถึงระบบการให้บริการด้านการประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ และการส่งไม่ว่าจะประกอบกิจการประเภทโรงงานอุตสาหกรรม หรือประเภทซื้อขายสินค้า เพราะเครื่องอำนวยความสะดวกดังกล่าว มีส่วนทำให้การประกอบธุรกิจมีความคล่องตัวสูง
                4.2 สถานพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง การเลือกสถานที่ประกอบการควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการขนส่งในการเดินทาง

            5. แหล่งลูกค้า
               สำหรับการประกอบกิจการประเภทโรงงานอุตสาหกรรม การจำหน่ายสินค้าจะจำหน่ายครั้งละเป็นจำนวนมาก ผู้มาซื้อคือ ผู้ค้าคนกลาง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเลือกสถานที่ตั้งใกล้ผู้บริโภคโดยตรง แต่ถ้าเป็นการประกอบกิจการประเภทผู้ค้าคนกลางที่ต้องจำหน่ายสินค้าแก่ผู้บริโภคโดยตรงควรเลือกสถานที่ตั้งใกล้ผู้บริโภค เพื่อความสะดวกในการจำหน่ายและเสียค่าขนส่งต่ำ

           6. กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ
                การเลือกสถานที่ประกอบการจะต้องศึกษากฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของสถานที่ประกอบการ เพื่อไม่ให้การประกอบการ นั้นขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือประเพณีอันดีงามของสถานที่นั้น เช่น ในประเทศไทย พื้นที่สีเขียวจะกำหนดไว้สำหรับการประกอบการ เกษตร จะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียวไม่ได้ เป็นต้น

             7. แหล่งเงินทุน
                 การเลือกสถานที่ประกอบการต้องคำนึงถึงเงินทุนที่ต้องใช้ ได้แก่ ราคาที่ดิน อัตรา ค่าแรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ค่าธรรมเนียมและภาษีที่ต้องจ่ายให้องค์การของรัฐใน การดำเนินการจัดตั้งสถานที่ประกอบการ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเลือกสถานที่ประกอบการทั้งสิ้น จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น มีผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ประกอบการ โดยผู้ประกอบการควรคำนึงถึงผลตอบแทน ที่คาดว่าจะได้รับจากการตัดสินใจเลือกสถานที่ใดเป็นสถานที่ประกอบ โดยคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
                   7.1 ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายรวมต่ำสุด การตัดสินใจเลือกสถานที่ใดเป็นสถานที่ประกอบการ ต้องคำนึงถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ เกิดขึ้นในการเลือกสถานที่นั้นเป็นสถานประกอบการ เช่น การประกอบการโรงงานผลิตไม้แปรรูป วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไม้แปรรูป คือ ซุงซึ่งเป็นวัตถุดิบมีน้ำหนักมาก การขนส่งค่อนข้างยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง ส่วนสินค้าสำเร็จรูป คือ ไม้แปรรูปมีน้ำหนักเบากว่าวัตถุดิบ การขนส่งค่อนข้างสะดวก และเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่า สถานที่ประกอบการโรงงานผลิตไม้แปรรูป จึงควรตั้งใกล้แหล่งวัตถุดิบมากกว่าตั้งใกล้ ผู้บริโภค เพราะจะทำให้เสียค่าขนส่งที่ถูกกว่า กรณีหาสถานที่ประกอบการในแหล่งวัตถุดิบไม่ได้ก็ควรหาสถานที่ตั้งใกล้แม่น้ำ เนื่องด้วยการขนส่ง ซุงสามารถใช้วิธีล่องซุงมาตามแม่น้ำ ทำให้เสียค่าขนส่งต่ำ นอกจากต้นทุนค่าขนส่งแล้ว ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่จะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจ เลือกสถานที่ประกอบการ ได้แก่ ค่าแรงงาน อัตราภาษี ค่าบริการต่าง ๆ
                     7.2 กำไรที่สูงสุด การตัดสินใจเลือกสถานที่ใดเป็นสถานที่ประกอบการ นอกจากคำนึงถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดแล้วควรคำนึงถึงรายรับประกอบการตัดสินใจด้วยหากสามารถตั้งสถานประกอบการในแหล่งที่ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายรวมต่ำกว่า ก็จะมีโอกาสหา รายรับได้มากกว่าคู่แข่ง จะทำให้ได้เปรียบ คือ กำไรสูงสุด
                      7.3 การเรียนลำดับปัจจัยต่าง ๆ ตามความสำคัญ เนื่องจากปัจจัยแต่ละปัจจัยมีความสำคัญแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของการประกอบการแต่ละประเภท ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องจัดลำดับความสำคัญ และรวมคะแนนแล้วจึงตัดสินใจเลือกสถานที่ประกอบธุรกิจจากการพิจารณาคะแนนที่สูงสุด
ที่มา  http://lpn.nfe.go.th/e_learning/LESSON6/unit6_1.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น